ใส่ซองอย่างไร ไม่ให้น่าเกลียด



เงินใส่ซอง คือหนึ่งในปัญหาโลกแตก ที่ทำเอาเงินในกระเป๋าทุกคนสั่นสะเทือน ไม่ว่าจะเป็นงานแต่ง งานบวช งานกฐิน งานผ้าป่า ก็ล้วนแล้วแต่ทำเอาจิตใจหวั่นไหวได้ไม่ต่างกัน จะใส่เท่าไรดีนะ ใส่แค่นี้พอหรือเปล่า ใส่น้อยไปไหม หลายคำถามที่ผุดขึ้นในหัวกันแบบไม่ทันตั้งตัว จนบางครั้งก็รู้สึกได้เลยว่าสถานะทางสังคมถูกกำหนดด้วยเงินใส่ซองกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างความสบายใจเวลารับซอง เราจึงมีหลักการง่ายๆ ที่อยากจะมาแชร์กัน หลักการที่ดีต่อใจ และอยากชวนทุกคนมามองให้ครบทุกด้านก่อนใส่ซอง

รายได้
ปัจจัยแรก ปัจจัยที่สำคัญที่สุด อย่าเป็นคนหน้าใหญ่โดยไม่จำเป็น ถ้าทำแบบนั้นรับรองได้ว่าฐานะทางการเงินอับเฉาแน่นอน เราต้องคำนวณรายได้ของเราให้พอเหมาะพอดีกับการใส่ซอง รู้จักตัวเองแล้วจะรู้ว่าเราควรใส่เท่าไร ไม่ต้องกลัวว่าจะน้อยเกินไปแล้วใครจะนินทา เพราะคนที่นินทาเราไม่ได้มาใช้ชีวิตร่วมกับเรา ไม่ได้มีรายจ่ายใช้กระเป๋าใบเดียวกับเรา คำนึงถึงตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำเป็นอันดับแรก หรือถ้าเป็นไปได้เก็บเงินเผื่อไว้สำหรับใส่ซองเลยก็ได้ จะได้ไม่มีปัญหาเวลาต้องจ่าย เพราะสังคมไทยหลีกเลี่ยงเงินช่วยไม่ได้อยู่แล้ว

ความสนิท
ปัจจัยรองลงมาอยากให้ดูในเรื่องความสนิทชิดเชื้อ คนไทยเป็นคนเพื่อนเยอะ มีน้ำใจไมตรี แต่ไม่ใช่ว่าเราจะพร้อมจ่ายให้ทุกคนอย่างเต็มที่ ญาติสนิทมิตรสหายอาจจะให้มากหน่อย เพราะในโอกาสหน้าพวกเขาเหล่านี้ก็ต้องมางานที่เราจัดเช่นเดียวกัน เพื่อนร่วมงานอาจจะให้ในระดับกลางไม่มากไม่น้อยจนเกินไป จะได้ไม่โดนแขวะแบบลอยๆ ในที่ทำงาน ส่วนพวกงานบุญกฐินผ้าป่า ก็แล้วแต่อยากจะทำบุญ เพราะเรื่องบุญไม่เข้าใครออกใครปากหนักไปก็มักจะเข้าตัว

ดูหน้างาน
หลักการนี้ใช้ได้กับงานแต่งเท่านั้น เพราะงานบวชงานบุญเราอาจดูไม่ออก ก่อนอื่นพอเราได้การ์ดงานแต่งมา เราต้องดูก่อนเลยว่าจัดที่ไหน โรงแรมอะไร หรูหราหรือไม่ คู่แต่งงานเป็นใคร พวกเขามีฐานะระดับไหน หรือถ้ายังไม่แน่ใจ รอไปให้ถึงหน้างานก่อนก็ยังได้ เมื่อรู้แล้วก็จะสามารถคำนวณเงินที่ต้องใส่ลงไปในซองได้ ถ้างานหรูหรา ดูดี อาหารสุดพิเศษ เราอาจจะต้องใส่มากหน่อย เพื่อให้พอดีกับสิ่งที่เราได้รับ แต่ถ้างานทั่วไปก็อาจจะลดหลั่นจำนวนเงินลงมา แต่ก็นั่นแหละครับ สุดท้ายแล้วเราควรย้อนกลับไปที่ปัจจัยแรก รายได้ของเรา มองตัวเราเองเป็นหลัก ก่อนที่จะมองคนอื่น

เคยได้เท่าไรก็ให้กลับไปเท่านั้น
อันนี้หลักการง่ายๆ เลยครับ จ่ายมาจ่ายกลับไม่โกง เขาเคยใส่ให้เราเท่าไร เราก็ใส่กลับคืนไปเท่านั้น ซึ่งแน่นอนครับว่าเราต้องเคยผ่านประสบการณ์ร่วมกันมาก่อนถึงจะทำแบบนี้ได้ หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่การบันทึกสิ่งที่เราได้รับไว้ให้ดี เมื่อถึงคราวที่เราต้องให้กลับคืนจะได้ใส่ซองได้อย่างถูกต้อง ไม่ตกหล่นแม้แต่บาทเดียวหรือถ้าเป็นไปได้ก็บวกเพิ่มขึ้นไปอีกสักนิดหน่อย เพราะค่าเงินในแต่ละช่วงเวลาอาจไม่เท่ากัน เป็นวิธีการที่เรียกได้ว่า วิน - วิน กันทั้งสองฝ่าย
.
ทั้งหมดนี้คือปัจจัยที่เราอยากให้ดูกันให้ดีก่อนใส่ซอง ฉุกคิดกันสักนิด โดยสิ่งที่สำคัญก็คือทัศนคติของผู้จัดงานและผู้ร่วมงาน ถ้าผู้ให้และผู้รับมองตรงกันว่า มันคือการมาร่วมงานเพื่อให้เกียรติ มาแสดงความยินดี ไม่ได้หวังผลกำไรหรือแสดงสถานะทางสังคม รูปแบบเงินใส่ซองก็จะกลายเป็นแค่เพียงปัจจัยเล็กๆ จะมากจะน้อยก็ไม่ใช่ปัญหาที่จะต้องมานั่งกังวลกันอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ค่านิยมของสังคมไทยไม่ได้เป็นแบบนั้น เราจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงความกังวลเหล่านี้ได้ไม่ว่าในยุคสมัยใดก็ตาม

แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า